สำหรับเรื่องที่นับว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยที่มีมาแต่โบราณ สิ่งนั้นก็คือความเชื่อในพระพุทธศาสนานั่นเอง การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ของศาสนาพุทธอย่างพระพุทธรูปก็เป็นสิ่งสำคัญของพุทธศาสนิกชน ซึ่งหากเราต้องการนำสิ่งศักดิ์สิทธ์อย่างพระพุทธรูปมาบูชาในบ้าน เราก็ควรจะรู้หลักของการจัดหิ้งพระ ซึ่งวันนี้เรามีเคล็ดลับมาฝากแล้วค่ะ
หลักสำคัญการจัดหิ้งพระภายในบ้าน
1.ด้านหลังของผนังในการจัดหิ้งพระ
ผนังของหิ้งพระจะต้องไม่เป็นผนังเดียวกันกับห้องน้ำหรือครัว เนื่องจากว่าห้องน้ำเป็นสถานที่ที่ไม่มีความเป็นสิริมงคล หากเลี่ยงได้ ควรเลี่ยงไม่ให้หิ้งพระอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับห้องน้ำจะเป็นการดีที่สุด
2.ทิศในการตั้งหิ้งพระ
สำหรับทิศในการตั้งหิ้งพระ หลายคนอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่แท้จริงแล้ว ทิศในการจัดวางหิ้งพระคือหลักสำคัญอันดับต้นๆ ในการตั้งหิ้งพระเลยทีเดียว สำหรับทิศในการจัดวางหิ้งพระจะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่มีข้อควรระวังอีกหนึ่งอย่างก็คือหากว่าเราตั้งหิ้งพระหันไปทางทิศตะวันออกแล้วพบว่าหิ้งพระตรงกับห้องน้ำ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงหรือมิฉะนั้นก็ตั้งไว้ในที่สูงหรือชั้นสองของบ้าน แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาของหลายๆ บ้านหากตั้งหิ้งพระไว้ที่ชั้นบนของบ้าน คนสูงอายุที่ต้องการไหว้พระอาจจะไม่สามารถขึ้นไปได้นั่นเอง วิธีแก้คือให้ตั้งหิ้งพระเหนือไปจนเกือบจรดเพดานในชั้นหนึ่งก็เพียงพอแล้ว
3.ตำแหน่งในการตั้งหิ้งพระ
ในการตั้งหิ้งพระเราควรตั้งไว้ที่บริเวณชั้นล่างตรงส่วนกลางของประตู หากว่าประตูของเรานั้นอยู่ในตำแหน่งกลางของบ้าน แต่สำหรับใครที่ชอบความเป็นระเบียบ หรือพื้นที่ภายในบ้านไม่อำนวย คุณก็อาจจะตั้งหิ้งพระไว้ชิดผนังด้านซ้าย จะเป็นสิริมงคลกับชีวิตของคุณอีกทางหนึ่งเช่นกัน
3.แสงสว่างกับการตั้งหิ้งพระ
การตั้งหิ้งพระ ควรคำนึงถึงแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เราไม่ควรตั้งหิ้งพระในพื้นที่อับทึบ ไม่มีแสงสว่างหรือห้องที่ไม่มีหน้าต่าง แต่หากว่าบ้านของคุณมีพื้นที่ที่ได้รับแสงสว่างน้อยก็ควรวางไว้ใกล้ๆกับหน้าต่างให้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่าพื้นที่นั้นต้องไม่ใกล้เคียงกับห้องน้ำ นอกจากนี้ห้องพระก็ควรจะกั้นเป็นสัดเป็นส่วน เป็นมุมสงบที่สุดของบ้าน เพื่อให้ผู้ที่เข้าไปไหว้พระมีจิตใจที่สงบที่สุด
4.คานกับการตั้งหิ้งพระ
หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่ามีข้อห้ามเกี่ยวกับการตั้งหิ้งพระอยู่อีกหนึ่งข้อ นั่นก็คือการวางหิ้งพระไว้ใต้คานเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะฉะนั้นก่อนจะตั้งหิ้งพระ ดูพื้นที่เพดานก่อนจะเป็นการดีที่สุด หากว่ามีคานหรือเพดานที่กดทับไม่ควรวางหิ้งพระไว้ที่บริเวณนั้นค่ะ
5.ความสะอาดของหิ้งพระ
การทำความสะอาดหิ้งพระ เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ หากว่าคุณมีเวลาว่างมากพอ ก็ควรจะทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูในห้องพระเป็นประจำทุกวัน ส่วนบริเวณหิ้งพระอาจจะใช้ไม้ปัดขนไก่ปัดฝุ่นเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นจับหนาจนทำความสะอาดยากกว่าเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ดีคุณก็ควรทำความสะอาดโดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดที่หิ้งพระสัปดาห์ละครั้ง เท่านี้บ้านของคุณก็จะมีความเป็นสิริมงคลแล้วค่ะ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือบริเวณด้านหลังส่วนที่เป็นผนังของหิ้งพระ ผนังด้านหลังของหิ้งพระจำเป็นจะต้องมีความสะอาด ไม่มีรอยสกปรก ฝุ่น หยากไย่ ควรทำความสะอาดผนังด้านหลังหิ้งพระอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ด เท่านี้ผนังหลังหิ้งพระก็จะสะอาดแล้วค่ะ
6.พื้นผิวของผนังด้านหลังหิ้งพระ
สำหรับสิ่งที่หลายๆ คนมองข้ามคือผนังด้านหลังหิ้งพระต้องมีความสวยงามและมีความเรียบดูระรื่นตา โดยผนังด้านหลังหิ้งพระหากเป็นผนังปูนจะต้องไม่มีรอยร้าว แต่หากว่าเป็นผนังไม้ผนังด้านหลังหิ้งพระจะต้องไม่มีลักษณะที่เป็นส่วนแหลมคมหรือเป็นเสี้ยน หากผนังด้านหลังเป็นผนังปูนมีปัญหาหรือมีรอยร้าวจะต้องฉาบให้เรียบหรือในกรณีที่เป็นผนังไม้ก็ควรจะใช้กระดาษทรายขัดและลงน้ำมันให้สวยงาม
7.ทิศทางการหันด้านหน้าของพระพุทธรูป
สำหรับการวางพระพุทธรูป สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือด้านหน้าของพระพักตร์จะต้องไม่หันหน้าไปประจันกับมุมแหลม มุมตึกของอาคารที่อยู่ใกล้เคียง หรือพระพักตร์ของพระพุทธรูปจะต้องไม่หันไปพบกับช่องลมของตึกหรือบ้านที่อยู่ห่างๆ กัน และไม่ควรให้พระพักตร์ของพระพุทธรูปประจันหน้ากับเสาไฟฟ้าแรงสูง
8.สิ่งสกปรกไม่ควรอยู่ใกล้กับหิ้งพระ
ในบริเวณที่มีการตั้งหิ้งพระ ควรจะทำความสะอาดให้ไม่มีสิ่งปฏิกูลอยู่ แม้แต่ถังขยะก็ไม่ควรมีไว้ เนื่องจากว่าหิ้งพระเป็นของสูงและเป็นของสิริมงคลสำหรับพุทธศาสนิกชน ไม่ควรนำสิ่งสกปรกมาวางปะปนกันไว้ หากเลี่ยงได้ ให้วางถังขยะไว้ที่ห้องอื่นๆ จะดีกว่า
นอกจากหลักการในการตั้งหิ้งพระข้างต้นที่เรานำมาฝากกันแล้ว สิ่งสำคัญกว่าก็คือการหมั่นดูแลหิ้งพระให้ดูสวยงาม มีความเรียบร้อย เพื่อเสริมความเป็นมงคลภายในบ้าน เพียงเท่านี้บ้านของคุณก็จะมีความสงบสุขและมีหิ้งพระเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในบ้านแล้ว
source: homeidea, pantip